ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโต และการศึกษาของประชากร ที่มีมากขึ้น ก่อให้เกิดศิลปะแบบใหม่ ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ศิลปินกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของศิลปะ ที่สวยงามแบบดั้งเดิม และได้รับเอาศิลปะแบบใหม่ ที่ทันสมัย มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เกิดเป็นศิลปะที่สวยงามและลงตัว ศิลปินเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากทั้งระดับนานาชาติ และแน่นอนที่สุดว่า เราทุกคนควรจะรู้จักศิลปินกลุ่มนี้ไปพร้อมๆกัน
ศาสตราจารย์กมล ทัศนาญชลี
ศิลปินท่านนี้ ได้รับรางวัล เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2540 ในสาขาทัศนศิลป์ ท่านถือว่าเป็นศิลปินดีเด่นด้านจิตรกรรมและสื่อผสมร่วมสมัยของไทย ท่านได้รับการยกย่องทั้งในและต่างประเทศ ทางด้านศิลปะร่วมสมัยของไทย ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ในแนวทางสากลที่มีพื้นฐานจากศิลปะแบบประเพณีไทยในอดีต ทั้งยังเป็นคนไทยและคนเอเชียเพียงหนึ่งเดียว ที่ผลงานศิลปะถูกบันทึกไว้ใน Gardner’s Art Through The Ages หรือ หนังสือประวัติศาสตร์ศิลป์โลก ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมผลงานศิลปะทั่วโลก ทั้งก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยทั่วโลกมีศิลปินได้รับการบันทึกเพียง 30,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวยุโรปและอเมริกา
ถวัลย์ ดัชนี
ศิลปินท่านนี้เป็นจิตรกร แห่งจังหวัดเชียงราย และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จะมุ่งเน้นไปยังภาพแห่งความน่าสะพรึงกลัว หรือภาพของบาปหรือกิเลสในตัวตนมนุษย์ แม้ว่าถวัลย์ ดัชนีจะล่วงลับไปแล้ว แต่ท่านก็ได้สร้างพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ซึ่งตั้งอยู่ใน ต. ลับแล จ.เชียงราย ที่แสดงผลงานของท่าน และได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงรายไปแล้ว
จ่าง แซ่ตั้ง
จ่าง แซ่ตั้ง ชื่นชอบการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก และได้ฝึกฝนฝีมือการวาดภาพด้วยตัวเอง ในปี พ.ศ. 2505 เริ่มเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันขนาดใหญ่ โดยใช้นิ้วมือแทนพู่กัน เป็นภาพเจ้าแม่โพธิสัตว์ ที่มูลนิธิโรงพยาบาลเทียน โดยเขาเริ่มเขียนเรื่องสั้นในปี พ.ศ. 2506 เรื่อง “เวลาอันยาวนาน” พิมพ์ในหนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาในปี พ.ศ.
จักรพันธุ์ โปษยกฤต
อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นศิลปินอิสระที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัย มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง อีกทั้งผลงานอื่นๆ ได้แก่ งานพุทธศิลป์ ประเภทจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ เช่น โบสถ์วัดตรีทศเทพวรวิหาร วัดเขาสุกิม งานประติมากรรมไทย เช่น ประติมากรรมรูปเจ้าเงาะกับเด็กเลี้ยงควาย จากเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม งานหุ่นกระบอก เช่น หุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ลิลิตตะเลงพ่าย งานซ่อมหุ่นวังหน้า เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์
ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ ในสาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2528 ท่านเป็นศิลปินและจิตรกร ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” และได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. 2526
เฟื้อเป็นผู้สนใจศึกษาศิลปะอย่างมุ่งมั่นลึกซึ้ง ด้วยการค้นหาแนวทางสร้างสรรค์ให้เหมาะกับการแสดงออกทางด้านจิตรกรรม ที่มีลักษณะเฉพาะตนโดยการถ่ายทอดสภาพแวดล้อม บรรยากาศ แสงเงา ประกอบกับความคิดคำนึงเรื่องสีสันที่เป็นลักษณะตามสายสกุลศิลปะยุโรป ใช้ฝีแปรงที่ฉับพลัน ดังปรากฏในผลงานจิตรกรรมมากมาย อาทิ จิตรกรรมทิวทัศน์เมืองเวนิชที่อิตาลี ทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ภาพเหมือนคุณยายของฉัน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นต้น
อาจารย์เฟื้อยังสำรวจและคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดสำคัญที่เป็นโบราณสถานเก็บไว้เป็นหลักฐานมรดกทางประวัติศาสตร์ศิลปะของชาติ มีผลงานซ่อมแซมภาพจิตรกรรมสำคัญในวัดทั่วประเทศไทยทั้งสิ้น 23,000 วัด ซึ่งผลงานที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือการบูรณปฏิสังขรณ์หอไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม
อังคาร กัลยาณพงศ์
ท่านเป็นผู้ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นจิตรกรและกวี เป็นกวีที่คงความเป็นไทย ทั้งในด้านความคิดและรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นกวีที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว จึงนับเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่ ซึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวถึงผลงานกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ว่ามีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก ซึ่งผลงานการเขียนของท่านที่มีชื่อเสียงคือ ปณิธานกวี และด้วยผลงานชิ้นนี้เอง ที่ทำให้ท่านได้รับรางวัลซีไรต์ หรือรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2529 ด้วย