ประเทศไทยของเรา เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในด้านอาหาร และขนมหวาน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดในโลก ที่เมื่อได้ลิ้มลองอาหาร หรือของหวานของไทยแล้วนั้น ย่อมติดอกติดใจเป็นแถว และอาหารไทยของเรานั้น ก็มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์มาหลายร้อยปีมาแล้ว ดังนั้น นอกจากที่จะมีรสชาติที่อร่อยมากๆแล้ว อาหารและขนมไทย ยังสามารถบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเราได้อีกด้วย แต่ก็มีอาหารบางชนิด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีอีกมากมาย ที่ได้รับแรงบันดาลใจ หรืออิทธิพลมาจากอาหารของชาติอื่น แต่ด้วยการที่เราบริโภคกันมาอย่างยาวนาน ทำให้ลืมคิดไปว่า อาหารหลายๆอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอาหารของไทยแท้ดั้งเดิมเสียทีเดียว แต่เป็นการที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติอื่น ซึ่งในบทความนี้ จะนำเสนออาหารและของหวานไทย 6 ชนิด ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชนชาติอื่น
- ห่อหมก
ห่อหมก อาหารไทยที่มักมีอยู่ตามร้านอาหารไทยทั่วไป ซึ่งด้วยส่วนประกอบนั้น ที่ประกอบไปด้วยพริกแกงแดง และกะทิ ก็อาจจะทำให้เราคิดว่าห่อหมกนั้นเป็นอาหารของไทยแท้ๆอย่างไม่ยาก แต่หารู้ไม่ว่า ห่อหมกนั้น เป็นอาหารประจำชาติของชาวกัมพูชา หรือที่พวกเขาเรียกว่า “Amok” นั่นเอง ซึ่งเราก็ได้ดัดแปลงจากสูตรดั้งเดิม มาเป็นรสชาติที่ถูกปากคนไทยมากขึ้นแค่นั้นเอง
- ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
เมนูนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผู้ที่คิดค้นของหวานเมนูนี้คือท้าวทองกีบม้า ซึ่งจริงๆแล้ว เริ่มต้นมาจากที่ในสมัยอยุธยา ที่เริ่มมีชาวตะวันตกเข้ามาในดินแดนอยุธยาของเรา แล้วพวกเขาก็ได้นำเอาวัฒนธรรมด้านอาหารเขามาเผยแพร่ด้วย โดยเริ่มจากการสอนการทำขนมฝอยทอง และเราก็ได้พัฒนาเป็นขนมที่มีไข่เป็นวัตถุดิบต่างๆต่อๆมา เช่น ทองเอก, เม็ดขนุน, เสน่ห์จันทร์ เป็นต้น
- ขนมจีน
เรามักจะทานเส้นขนมจีนกับแกงเผ็ดต่างๆมาอย่างช้านานแล้ว แต่หารู้ไม่ว่า ขนมจีน ที่เราเรียกกันอย่างติดปากนั้น ไม่ได้มีจุดกำเนิดมาจากประเทศจีน ตามชื่อเป็นอย่างใด แต่หากมาจากชาวมอญ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และพวกเขาก็ได้เผยแพร่ขนมจีนไปทั่วประเทศ เพราะในประเทศไทยของเรานั้น มีชาวมอญที่อาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษอยู่ทั่วไป โดยชื่อดั้งเดิมของขนมจีนคือ “ขะนอมจิน” แต่ก็เพี้ยนไป กลายเป็นขนมจีน ที่เรียกกันในปัจจุบัน
- ชาเย็น
ชาเย็น ที่เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตทั้งคนไทย หรือคนต่างชาติ ก็ล้วนแต่ชื่นชอบชาเย็นกันเป็นแถว ด้วยความหอม หวาน สดชื่นมากๆ ทำให้เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับอากาศร้อนๆที่บ้านเราเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งชาเย็น ที่เราเรียกว่าชาไทยนั้น จริงๆแล้ว บรรพบุรุษไทยนั้น ไม่ได้นิยมการดื่มชา แต่จะเป็นเครื่องดื่มจำพวกเหล้าเสียมากกว่า ซึ่งชาไทยนั้น มาจากชาดำ หรือชาซีลอน ที่มาจากประเทศอินเดีย ซึ่งเกร็ดความรู้อีกอย่างหนึ่งคือ ในประเทศจีน หรือญี่ปุ่น ที่นิยมดื่มชากันมาแต่ช้านานนั้น เขาจะไม่ใส่นม แต่การใส่นมลงไปในชานั้น มาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งพวกเราก็ได้รับอิทธิพลผ่านมาทางอินเดีย และชาวอังกฤษ ที่เข้ามาขยายอำนาจในสมัยก่อนอีกที
- แกงมัสมั่น
เครื่องแกงที่ใส่ขมิ้น หรือผงกะหรี่นั้น ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย แล้วเราก็ได้รับอิทธิพลนั้นผ่านมาทางประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียงของเรา ซึ่งจะสังเกตุได้ว่า อาหารประจำชาติของพม่านั้น มีส่วนผสมของเครื่องแกงกะหรี่ที่เผ็ดร้อนอยู่หลายเมนูเลยทีเดียว
- แกงฮังเล
อาหารของชาวเหนือ ที่ถือว่าเป็นอาหารพื้นบ้านของทางภาคเหนือของไทยเลยทีเดียว ที่มาของเมนูนี้ก็มาจากที่เดียวกับแนวคิดของแกงมัสมั่นเช่นกัน เพราะดินแดนล้านนาในสมัยก่อน ถูกปกครองด้วยพม่ากว่า 200 ปี จึงไม่แปลกใจเลยที่อาหารพื้นเมืองของชาวเหนือหลายๆเมนู ล้วนแต่เป็นการได้รับอิทธิพลมาจากพม่าแทบทั้งสิ้น